พุทธศตวรรษที่ 25 ของ ภาษายิดดิช

ในช่วงพ.ศ. 2443 ภาษายิดดิชปรากฏชัดในฐานะของภาษาหลักในยุโรปตะวันออก มีการใช้ในวรรณคดีและภาพยนตร์มาก เป็นภาษาราชการภาษาหนึ่งของรัฐไบโลรัสเซียในโซเวียต การศึกษาของชาวยิวในหลายประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ใช้ภาษายิดดิชมากขึ้น (โดยเฉพาะในโปแลนด์) มีการตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์ยิดดิช เมื่อ พ.ศ. 2468 และเป็นภาษากลางของชาวยิวในยุโรปตะวันออก ซึ่งปฏิเสธลัทธิไซออนิสต์ และต้องการรักษาวัฒนธรรมยิวไว้ในยุโรป ส่วนภาษาฮีบรูสมัยใหม่เป็นภาษาหลักของชาวยิวในขบวนการไซออนิสต์

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้พูดภาษายิดดิชราว 11 – 13 ล้านคน (Jacobs, 2005) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวลดจำนวนผู้พูดภาษายิดดิชลงไปมาก งานทางวิชาการและศาสนาที่ใช้ภาษายิดดิชถูกทำลาย ผู้พูดภาษายิดดิชรอดชีวิตเพียงราวล้านคน (ส่วนใหญ่อยู่ในอเมริกา) และจากความเข้มงวดในการใช้ภาษาเดียวของขบวนการไซออนิสต์ทำให้ผู้พูดภาษายิดดิชลดจำนวนลง เหมือนที่ภาษายิดดิชตะวันตกเคยเป็นมาก่อน

ในปัจจุบัน ภาษายิดดิชเป็นภาษาของชนส่วนน้อยในมอลโดวา และสวีเดน แต่จำนวนผู้พูดยังมีรายงานที่แตกต่างกัน ข้อมูลล่าสุดเท่าที่หาได้คือ

  • อิสราเอล 215,000 คน (6% ของชาวยิวทั้งหมด; ข้อมูล พ.ศ. 2529)
  • สหรัฐ 178,945 คน (2.8% ของชาวยิวทั้งหมด; ข้อมูล พ.ศ. 2543) ในจำนวนนี้ อายุมากกว่า 65 ปีมี 72,885 คน และอายุต่ำกว่า 18 ปีมี 39,245 คน
  • อดีตรัฐในสหภาพโซเวียต 29,998 คน (13% ของชาวยิวทั้งหมด; ข้อมูล พ.ศ. 2545)
  • มอลโดวา 17,000 คน (26% ของชาวยิวทั้งหมด; ข้อมูล พ.ศ. 2532)
  • ยูเครน 3,213 คน (3.1%ของชาวยิวทั้งหมด; ข้อมูล พ.ศ. 2544)
  • เบลารุส 1,979 คน (7.1% ของชาวยิวทั้งหมด; ข้อมูล พ.ศ. 2542)
  • ลัตเวีย 825 คน (7.9% ของชาวยิวทั้งหมด)
  • ลิทัวเนีย570 คน (14.2% ของชาวยิวทั้งหมด)
  • เอสโตเนีย 124 คน (5.8% ของชาวยิวทั้งหมด)
  • แคนาดา 19,295 คน (5.5% ของชาวยิวทั้งหมด; ข้อมูล พ.ศ. 2544)
  • โรมาเนีย 951 คน (16.4% ของชาวยิวทั้งหมด)

ภาษายิดดิชมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในพุทธศตวรรษนี้ ผู้พูดในอิสราเอลจะยืมคำจากภาษาฮีบรู ส่วนผู้พูดในสหรัฐและอังกฤษจะยืมคำจากภาษาอังกฤษทำให้การสื่อสารระหว่างผู้พูดภาษายิดดิชที่อยู่คนละประเทศทำได้ยากขึ้น